พระพุทธรำพึง

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๘ ขณะประทับนั่ง ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงพุทธรำพึง ว่า “ธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วนี้ ลึก ซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่ง ตรรก คือคิดเอาเองไม่ได้ หรือ ไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้



อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมาก ยินดีในความอาลัย คือ กามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้น ยากนักที่จะเห็น ปฏิจจสมุปบาท และ พระนิพพาน ซึ่งมีสภาพ บอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ ตถาคตจะพึงแสดงธรรม หรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้ว คนอื่นรู้ตามไม่ได้ ตถาคตก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้ อันบุคคล ผู้เพียบแปล้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ จะรู้ได้โดยง่ายมิได้เลย บุคคลที่ ยังยินดี พอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืด คือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต อันละเอียด ประณีต ลึก ซึ้ง เห็นได้ยากนี้”



วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

ระยะเวลากว่าจะบรรลุธัมม กับการศึกษาทางโลก

ทำไมธัมมะถึงยาก?

หากเปรียบเทียบระยะเวลาที่ใช้ในการเกิดขึ้นของความรู้ต่างๆที่เรามีในทุกวันนี้กับการเกิดของพระพุทธเจ้าจะเห็นว่ามีระยะเวลาที่แตกต่างกันอย่างมากการกำเนิดของภาษาที่คนใช้ในการสื่อสารจนพัฒนามาเป็นภาษาทุกวันนี้ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ และวิทยาการของคนทั้งหมดก็ไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ ปี แต่พระพุทธศาสนาใช้เวลานานกว่านั้นมากๆ อย่างพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าปัญญาธิกะใช้เวลา ๒๐ อสงไขย กับอีกแสนกัปป (วันหลังจะอธิบายให้ฟังเพิ่มว่า อสงไขย คืออะไร และ กัปป คืออะไร) ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานมาก

ดังนั้นการที่เรารู้สึกว่าพระพุทธศาสนายากไม่ใช่เรื่องแปลกแต่เราจะทำความเข้าใจได้ นึกเหมือนกับว่าเราเรียนหนังสือแล้วกัน ตั้งแต่เริ่มเรียนจนจบปริญญาตรีเราใช้เวลา ๑๖ ปี ปริญญาโท-เอก อีก ๖ ปี รวม ๒๒ ปี ซึ่งนั่นเราเรียนวิทยาการที่มีอายุในการพัฒนามาเพียงไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ ปี นี้เท่านั้นเอง แต่พระพุทธศาสนานานกว่านั้นมากๆ

ฉะนั้นเราก็ค่อยๆศึกษาพระพุทธศาสนาไปแบบเดียวกันกับที่เราเรียนหนังสือ อย่าใจร้อนเราไม่ได้จบปริญญาตรีในวันเดียว เราไม่ได้เข้าใจทุกอย่างในนาทีแรกที่เห็น แต่ศึกษาไปอย่างต่อเนื่องในที่สุดทุกคนก็จะเข้าใจเหมือนกัน