พระพุทธรำพึง

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๘ ขณะประทับนั่ง ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงพุทธรำพึง ว่า “ธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วนี้ ลึก ซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่ง ตรรก คือคิดเอาเองไม่ได้ หรือ ไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้



อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมาก ยินดีในความอาลัย คือ กามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้น ยากนักที่จะเห็น ปฏิจจสมุปบาท และ พระนิพพาน ซึ่งมีสภาพ บอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ ตถาคตจะพึงแสดงธรรม หรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้ว คนอื่นรู้ตามไม่ได้ ตถาคตก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้ อันบุคคล ผู้เพียบแปล้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ จะรู้ได้โดยง่ายมิได้เลย บุคคลที่ ยังยินดี พอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืด คือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต อันละเอียด ประณีต ลึก ซึ้ง เห็นได้ยากนี้”



วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

ทำไมมีแต่ จำ จำ จำ แล้วก็ จำ...

ทำไมมีแต่บอกให้จำ จำ จำ แล้วก็จำ จะเข้าใจก่อนได้รึเปล่า?

     หลายคนคงจะมีคำถามอย่างนี้อยู่ในหัวอยู่เสมอๆ แต่อาจจะไม่ได้ลองคิดทบทวนให้ละเอียดว่าสิ่งที่บอกว่า ต้องเข้าใจก่อนแล้วค่อยจำนั้นเราหมายความอย่างนั้นจริงๆ หรือเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม เบื้องต้นเราก็คงจะต้องมาดูว่าความเข้าใจที่เราพูดๆกันนั้นหมายถึงอะไร

     ความเข้าใจ คือกระบวนการทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้บุคคลสามารถครุ่นคิดถึงสิ่งนั้น และสามารถใช้มโนทัศน์ (Concept) เพื่อจัดกับกับสิ่งนั้นได้อย่างเพียงพอ (th.wikipedia.org) ซึ่งจากคำอธิบายดังกล่าวจะเห็นว่าคนจะเข้าใจในเรื่องใดได้ก็ต่อเมื่อมีมโนทัศน์(Concept)ในเรื่องนั้นเพียงพอ เมื่อมาสู่การศึกษาธรรมะ เราแยกความแตกต่างระหว่างภาษาโลก-ภาษาธรรมไม่ออกเราจึงใช้มโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสารที่เรามีมาทำความเข้าใจในภาษาธรรม ผลที่เกิดขึ้นจึงเหมือนจะเข้าใจ แต่เป็นความเข้าใจที่ใช้มโนทัศน์(Concept)ที่ผิด ไม่สามารถเข้าสู่ภาษาธรรมได้

     ดังนั้นการทำความเข้าใจธรรมะจะต้องเริ่มจากการแยกมโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสารออกจากการศึกษาธรรมะ และหามโนทัศน์(Concept)ที่ถูกต้องในการทำความเข้าใจธรรมะ ซึ่งในที่สุดเราก็จะพบว่าเราไม่มีอยู่เลย จึงเป็นที่มาว่าเรายังไม่สามารถทำความเข้าใจในธรรมะได้ แต่เราต้องเริ่มจากการจดจำเพื่อสร้างมโนทัศน์(Concept)ขึ้น และนำไปสู่การเข้าใจธรรมะในอนาคต

     ตัวอย่างเช่น โลภะเมื่อกล่าวถึงโลภะเราจะนึกได้ทันทีว่าความโลภ อยากได้ของคนอื่น ซึ่งเรารู้ไหมว่าทำไมเราถึงเข้าใจอย่างนั้น เราเข้าใจอย่างนั้นเพราะเมื่อเราเห็นคำว่า โลภะเราก็นำมโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสารมาใช้ ซึ่งเรารู้ในทันทีว่าโลภะแปลว่าความโลภ อยากได้ของคนอื่น ซึ่งเป็นการใช้มโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสาร ไม่ใช่ภาษาธรรม แล้วเมื่อเราถามตัวเองว่าแล้วภาษาธรรมหมายถึงอะไรละ? เราก็จะไม่ได้คำตอบ หรือไม่เราก็ได้คำตอบเดิมคือความโลภ อยากได้ของคนอื่น เพราะเรามีมโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสารเท่านั้น เราไม่มีมากกว่านั้น

     แล้วถ้าเราอยากมีมโนทัศน์(Concept)เพื่อเข้าใจในภาษาธรรมจะทำอย่างไร วิธีการง่ายมากคือ จำ จำ จำ แล้วก็จำ จนถึงวันหนึ่งจำได้มากพอก็จะเข้าใจได้เอง ซึ่งจากตัวอย่าง โลภะภาษาธรรมเบื้องต้นก็ต้องเข้าใจว่าคือ โลภะมูลจิต ๘ จิต ประกอบด้วย

     ๑. โสมะนัสสะสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะสัมปะยุตตัง อะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๒. โสมะนัสสะสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะสัมปะยุตตัง สะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๓. โสมะนัสสะสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะวิปปะยุตตัง อะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๔. โสมะนัสสะสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะวิปปะยุตตัง สะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๕. อุเปกขาสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะสัมปะยุตตัง อะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๖. อุเปกขาสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะสัมปะยุตตัง สะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๗. อุเปกขาสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะวิปปะยุตตัง อะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง
     ๘. อุเปกขาสะหะคะตัง ทิฏฐิคะตะวิปปะยุตตัง สะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โลภะมูละจิตตัง

     อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น โทสะเมื่อกล่าวถึงโทสะเราจะนึกได้ทันทีว่าความโกรธ ซึ่งเรารู้ไหมว่าทำไมเราถึงเข้าใจอย่างนั้น เราเข้าใจอย่างนั้นเพราะเมื่อเราเห็นคำว่า โทสะเราก็นำมโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสารมาใช้ ซึ่งเรารู้ในทันทีว่าโทสะแปลว่าโกรธ ซึ่งเป็นการใช้มโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสาร ไม่ใช่ภาษาธรรม แล้วเมื่อเราถามตัวเองว่าแล้วภาษาธรรมหมายถึงอะไรละ? เราก็จะไม่ได้คำตอบเหมือนเช่นเดิม หรือไม่เราก็ได้คำตอบเดิมคือความโกรธ เพราะเรามีมโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสารเท่านั้น เราไม่มีมากกว่านั้น

     โทสะ ในภาษาธรรมเบื้องต้นก็ต้องเข้าใจว่าคือ โทสะมูลจิต ๒ ประกอบด้วย

     ๑. โทมะนัสสะสะหะคะตัง ปฏิฆะสัมปะยุตตัง อะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โทสะมูละจิตตัง
     ๒. โทมะนัสสะสะหะคะตัง ปฏิฆะสัมปะยุตตัง สะสังขาริกัง กามาวะจะระ อะกุสะละ โทสะมูละจิตตัง

     หากที่สุดแล้วท่านยืนยันจะไม่จดจำ จะต้องเข้าใจก่อนจึงจะจดจำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือท่านจะมีความรู้สึกเหมือนเข้าใจแต่เป็นความเข้าใจที่เกิดจากมโนทัศน์(Concept)ของภาษาสื่อสาร จะไม่สามารถไปสู่การสิ้นสุดวัตต สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ และไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

     แต่หากท่านเริ่มจดจำข้อธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเวนัยสัตว์เพื่อสร้างมโนทัศน์(Concept)ที่ถูกต้องในการศึกษาธรรมแล้ว ท่านก็จะสามารถเข้าสู่การทำความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธองค์เพื่อไปสู่การสิ้นสุดวัตต สิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ และนี่คือจุดต่างสำคัญที่จะทำให้เรื่องราวที่จะอธิบายต่อไปแตกต่างจากที่เรารู้อยู่เดิมอย่างสิ้นเชิง...