พระพุทธรำพึง

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๘ ขณะประทับนั่ง ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงพุทธรำพึง ว่า “ธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วนี้ ลึก ซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่ง ตรรก คือคิดเอาเองไม่ได้ หรือ ไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้



อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมาก ยินดีในความอาลัย คือ กามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้น ยากนักที่จะเห็น ปฏิจจสมุปบาท และ พระนิพพาน ซึ่งมีสภาพ บอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ ตถาคตจะพึงแสดงธรรม หรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้ว คนอื่นรู้ตามไม่ได้ ตถาคตก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้ อันบุคคล ผู้เพียบแปล้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ จะรู้ได้โดยง่ายมิได้เลย บุคคลที่ ยังยินดี พอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืด คือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต อันละเอียด ประณีต ลึก ซึ้ง เห็นได้ยากนี้”



วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทำไมจึงต้องจดจำ และเข้าใจ จิต เจตสิก รูป และลักขณาทิจตุกกะ

จิต ๑๒๑
เจตสิก ๕๒

รูป ๒๘

เกิดเมื่อใด ทุกข์เมื่อนั้น! การเกิดมาเป็นสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ อันประกอบด้วย อบายภูมิ ๔ (สัตว์นรก อสุรกาย เปรต สัตว์เดรัจฉาน) มนุษย์ ๑ เทวดา ๖ พรหม ๑๖ และอรูปพรหม ๔ ล้วนต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏอันยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด ล้วนอยู่ในความทุกข์ทั้งสิ้น (ทุกข์ ๑๖๐ ประกอบด้วย โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะเจตสิก ๑) รูป ๒๘) เป็นวิปาก เป็นผลที่มองเห็นกันอยู่ แต่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ จนต้องรอคอยการอุบัติขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้แล้วในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปปาทธัมม ทรงค้นพบเหตุของการเวียนว่ายตายเกิด ทรงประทานพุทธธัมมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งในปัจจุบันคือ “พระไตรปิฎก” อันประกอบด้วย

พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็น ผล
พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็น ผล
พระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็น
เหตุ

พระอภิธรรมซึ่งมี “ปรมัตถธัมม” อันประกอบด้วยเรื่องของ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ปรมัตถธัมม เป็นธัมมที่คัมภีระ มีความละเอียด ลึก ซึ้ง เป็นธัมมที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่มีผู้ใดสามารถรู้ได้เอง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสร้างพระปารมีมาตลอด ๒๐ อสงไขยกำไรแสนกัปป์ เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ออกจากสังสารวัฏฏ เหตุนั้นคือเรื่องของ “จิตปรมัตถะ เจตสิกปรมัตถะ และรูปปรมัตถะ พร้อมทั้งวิเสสลักษณะ หรือลักขณาทิจตุกกะ” การจะดับเหตุได้ต้องรู้ เรื่องเหตุ จึงจะไปดับรูปดับนาม เพราะ จิต และเจตสิก คือ นาม ส่วน รูป คือ รูป สัตวะทั้งหลาย มีรูป และมีนาม ล้วนทำให้เกิดทุกข์ (ทุกข์ ๑๖๐ ประกอบด้วย โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะเจตสิก ๑) รูป ๒๘) เมื่อดับรูป ดับนามได้ ก็ไม่ต้องมาเกิดมาทุกข์อีก คือ “นิพพาน”การเรียนทางโลกที่เราได้ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ทำมาหาเลี้ยงชีวิตได้ เพราะเราเริ่มเรียนตั้งแต่พื้นฐานอนุบาล คือ ก.ไก่ ข.ไข่ เป็นต้น เช่นเดียวกัน การสิกขาในทางธัมม การสิกขาในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ต้องเริ่มจากพื้นฐานเบื้องต้นแล้วทำความเข้าใจไปเป็นลำดับๆ จนกว่าจะเข้าใจธัมม รู้แจ้งธัมม บรรลุธัมม เป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องสิกขาธัมมเบื้องต้น คือ จิต เจตสิก รูป และลักขณาทิจตุกกะ ซึ่งเป็นตัวทำงานของ จิต เจตสิก รูป ให้เกิด สามัญลักษณะ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ นั่นคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยเริ่มรู้จัก จิตมีกี่ประเภท? มีการจำแนกอย่างไร? เจตสิกมีกี่ประเภท? มีการจำแนกอย่างไร? รูปมีกี่ประเภท? มีการจำแนกอย่างไร? มีการทำงานกันด้วยวิเสสลักษณะอย่างไร? เราก็จะมีธัมมของพระพุทธเจ้า เข้าไปอยู่ในจิตของเรา เป็นผังรองรับธัมมเบื้องสูงต่อไป ธัมมของพระพุทธเจ้าเป็นมหากุสล นำไปสู่ฌาน สมาธิ และปัญญา เข้าไปตัดกิเลส และถึงโลกุตตรในที่สุด

ปริยัติ คือ พระพุทธวจน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ปฏิปัตติ คือ ผลที่ได้เป็นพระอริยบุคคล ๘ ประเภทได้แก่ พระโสตาปัตติมัคคบุคคล พระโสตาปัตติผลบุคคล พระสกทาคามิมัคคบุคคล พระสกทาคามิผลบุคคล พระอนาคามิมัคคบุคคล พระอนาคามิผลบุคคล พระอรหัตตมัคคบุคคล พระอรหัตตผลบุคคล

ปฏิเวธ คือ พระนิพพาน

ตราบใดที่ยังมีผู้สิกขาธัมม ตราบนั้นไม่สิ้นพระอรหันต์