พระพุทธรำพึง

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๘ ขณะประทับนั่ง ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงพุทธรำพึง ว่า “ธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วนี้ ลึก ซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่ง ตรรก คือคิดเอาเองไม่ได้ หรือ ไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้



อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมาก ยินดีในความอาลัย คือ กามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้น ยากนักที่จะเห็น ปฏิจจสมุปบาท และ พระนิพพาน ซึ่งมีสภาพ บอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ ตถาคตจะพึงแสดงธรรม หรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้ว คนอื่นรู้ตามไม่ได้ ตถาคตก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้ อันบุคคล ผู้เพียบแปล้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ จะรู้ได้โดยง่ายมิได้เลย บุคคลที่ ยังยินดี พอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืด คือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต อันละเอียด ประณีต ลึก ซึ้ง เห็นได้ยากนี้”



วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน

   “ใจของเรา” นั้น ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงว่า “มโนปุพพังคมาธัมมา มโนเสฏฐา มโนมายา” ตรงกับภาษาโลกว่า “จิต” เป็นใหญ่ “จิต” เป็นประธาน “จิต” เป็นหัวหน้า เราก็ไม่รู้ว่า “จิตอะไร” เป็นใหญ่ “จิตอะไร” เป็นประธาน “จิตอะไร” เป็นหัวหน้า ไม่เข้าใจ เพราะไม่รู้ว่า อะไรเป็นใหญ่จริง ๆ อะไรเป็นประธานจริงๆ เราก็ “แปล” คือ “จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน จิตเป็นหัวหน้า” เราก็รู้แค่นั้น แต่เราไม่รู้ว่า จิตคืออะไร จิตเป็นใหญ่คืออะไร

   ถ้าเราไม่รู้จัก “จิต ๑๒๑” เราก็ไม่รู้จัก “ความเป็นใหญ่” เพราะ “จิตแต่ละจิต” เขาใหญ่ทุกจิตเลย เรียกว่า “จิตเป็นใหญ่”

   - “โลภะ ๘ จิต” ทุกจิตใน ๘ นี้ “ใหญ่” ทั้งสิ้น

   - “โทสะ ๒ จิต” เท่านั้น แต่ ๒ จิตก็ใหญ่ที่สุด ก็ใหญ่ของ ๒ จิต แต่อย่ามาใหญ่กับ “โลภะ” “โลภะ” เขาไม่ยอม ฉะนั้น “โทสะ” ใหญ่ก็ใหญ่ไป

   - “โมหะ” มีอยู่แค่ ๒ จิต ก็ใหญ่อีก แต่ใหญ่เฉพาะ “โมหะ” เขา “โทสะ” เขาก็บอกเขาก็ใหญ่ “โลภะ” เขาก็ใหญ่ นี่เรียกว่า จิตเป็นประธาน จิตเป็นหัวหน้า

   - ถ้าเป็น “อเหตุกจิต ๑๘” เขาก็บอกว่า “จิต” ของเขานี้เป็น “อเหตุก” ใหญ่ที่สุดแล้ว “ตาเราเห็น” นี้ “ใหญ่” แล้ว เราเห็นอะไรก็เห็น แต่ “โลภะ” ไม่เห็น ไม่เห็นตัวตน แต่เราอยากได้ “เราเห็น” แต่เราไม่เห็น “ตัวโลภะจริง ๆ” เพราะมันคำสั่งออกมาจากภายใน แต่เรามองไม่เห็น

   ฉะนั้น “โลภะ” ก็ใหญ่ “โทสะ” ก็ใหญ่ “โมหะ” ก็ใหญ่ “อเหตุก ทั้ง ๑๘” ก็ใหญ่อีก บังเอิญใน “อเหตุก ๑๘” เห็นอยู่แค่ ๕ อย่างที่ใหญ่ก็คือ เห็น ทางตา ทางหู นี้คือทาง จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท อย่างนี้เรารู้กันหมดเลย เราก็รู้ว่านี่คือใหญ่ที่สุด

   แต่ที่ใหญ่กว่า แต่ต่างก็ไม่ยอม ต้องใหญ่ เพราะ “จิตแต่ละจิต” เขาใหญ่ เขาจึงเป็น “ประธาน” แล้วก็เป็น “หัวหน้า” ด้วย

   จากนั้นมา

      - “จิต” ประเภท “กามาวจรโสภณจิต” อีก ๒๔ เขาก็ใหญ่

      - “รูปาวจรจิต” อีก ๑๕ ก็ใหญ่อีก

      - “อรูปวจรจิต” อีก ๑๒ ก็ใหญ่อีก

      - แล้ว “โลกุตตรจิต ๔๐” ก็ใหญ่อีก

   จะเห็นว่า “จิตแต่ละจิต” นั้น เรียกว่า “จิตเป็นประธาน”

   แล้ว “เจตสิก” อีก “เจตสิก” นี้เขาประเภทที่ว่า เข้าไหนเข้าด้วย “เจตสิกแต่ละเจตสิก” เขาก็ “ใหญ่” อีก เพราะเขาเป็นตัวเชื่อมโยงไป นำเรื่องราวมาไว้ที่ “จิต” ฉะนั้น ถ้า “เจตสิก” ไม่ร่วมมือกับ “จิต” รับรอง “จิต” นั้นต้องเฉา ฉะนั้น ถ้า “เจตสิก” ปฏิเสธกับสิ่งนี้ คือ

   - อย่างสมมุติว่า “เจตสิก ฝ่ายกุสล” นี้ เขาก็ปฏิเสธ “เจตสิกอกุสล” เขาไม่ใช่มาร่วมแรงร่วมใจ

   - แล้วพอ “เจตสิกอกุสล” เขาทำงาน “เจตสิกฝ่ายกุสล” เขาก็เฉาไป พวก “อกุสล” นี้ก็จะเจริญรุ่งเรือง

   - ฉะนั้น “เจตสิก” ที่ เป็น “กุสล” ก็ดี เป็น “อกุสล” ก็ดี หรือเป็น “ไม่เข้าข้างไหนออกข้างไหน” คือเข้าได้ทุกอย่าง ที่เรียกว่า “อัญญสมานเจตสิก ๑๓” ฉะนั้น “อัญญสมานเจตสิก ๑๓” นี้ เขาเป็นใหญ่ “แต่ละอย่าง” เป็นใหญ่หมด

   รวมแล้ว “เจตสิก ๕๒” นี้ใหญ่หมดเลย คือ จากนั้น จะมีพวก “โสภณเจตสิก” อีก ๒๕ เขาก็ใหญ่อีก “ทุกเจตสิก”

   เราก็ไม่รู้ว่า อะไรใหญ่กันจริง ๆ เราไม่รู้อะไรเป็นประธาน อะไรเป็นหัวหน้า เราก็แปลสวยๆ ว่า “จิตเต สังกสิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา = เวลา “จิตของเรา” นี้จะไป กุสล อกุสล นี้

   “จิต จะเป็นตัวนำ” ฉะนั้นเวลาที่เราไม่เคยทราบ เราก็ไม่รู้ เพราะ “เรื่องจิต” มีคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัส แต่ “คนยุคนั้นที่มีบุญ” เขาเข้าใจ พอมาถึง “เรา” เราไม่เข้าใจ เรา “เรียนแปล”

   แล้วนอกจาก “เจตสิก เป็นใหญ่” ยังมี “รูป เป็นใหญ่” อีก คือ “รูปเรา” นี้ “เป็นใหญ่” พอ “รูปเป็นใหญ่” นี้ เราจะมอง “จิต” ไม่ออก เพราะเราจะดูแต่ “รูปเรา”

   แล้วพอเป็น “รูปเรา” ใส่ “ชื่อ” เข้าไป ก็เป็น “ของเรา” เราก็ไม่รู้ที่มาที่ไปว่า “เป็น ของเรา” ได้อย่างไร แล้วทำอย่างไรนี้ จึงจะรอด เราจึงจะอายุยืนยาวมากที่สุด นี่ก็คือ เรื่องที่จะทำอย่างไรให้ “รูปนี้ยืนยาว” แล้วก็อยู่ใน “วัยเยาว์” ด้วย ก็คือ ทำอย่างไรไม่ให้แก่ เราก็จะต้องไปหายานานาชนิด เรียกว่า ชะลอความแก่ “อย่างไรก็แก่” เพราะเขาไม่รู้ว่า “ตัวแก่จริง ๆ” อยู่ที่ไหน เราก็ไม่เคยมองเห็น เราดูกระจกทุกวันนี้ เราก็จะเห็นว่าเหมือนเดิม เหมือนเดิม แต่ดูไป ดูไป นี้ มันก็ค่อย ๆ “เอ้อ ! ชรา” เราก็ไม่รู้ที่มาที่ไปอีกว่า เพราะอะไร ฉะนั้น พอเกิดมาแล้วนี้ เราจึงต้องพึ่งพาอาศัย “ยา” ฉะนั้น “คน” ก็ขวนขวายกันมากเลย ยิ่งมีอำนาจ มีกำลังเท่าไร นี้ ก็แสวงหาสิ่งที่จำเป็น “ยาชะลอความแก่ได้” นี้ ฉะนั้นผู้ที่หาหนักหนานี้ก็คือ “ฮ่องเต้จีน” ของจีนนี้จะหาแต่ “ยา” ทั้งนั้นเลย หายาอายุวัฒนะทั้งหมดเลย ฉะนั้นเวลาเขาบอกยาอายุวัฒนะว่า กินมันสมองลิง ก็ต้องไปหามันสมองลิงมากิน ถ้าบอกว่า กินอุ้งตีนหมี ก็ต้องกินอุ้งตีนหมี คือสารพัดไปหมดเลย ทั้งหมดนั้นเพื่อ “อายุวัฒนะ” เพื่อให้อายุยืนยาว แล้วในที่สุดก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง เราก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นใหญ่

   พระพุทธองค์ไม่ได้บอกว่า “รูป” เป็นหัวหน้า “รูป” เป็นใหญ่ “รูป” เป็นประธาน “ไม่มีเลย” มีแต่ “จิต” เป็น หัวหน้า “จิต” เป็น ประธาน “จิต” เป็น ใหญ่ ไม่บอก “รูป” เลย เพราะพระพุทธองค์ก็ทรงเห็นแล้วเมื่อ “รูปเรา” นี้ เดี๋ยวก็ “แก่” ก็ “ตาย” มันง่าย ๆ สอนอย่างนี้ ใครก็สอนได้ ไม่รู้จริงๆเลย

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ภาษาโลก ภาษาธรรม
- จิต ๑๒๑
- เจตสิก ๕๒
รูป ๒๘

"แม้ธรรมบทใดๆก็ตามหากยึดคำแปลอยู่เช่นนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ลงนรกขุม ๗ เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ต้องศึกษาให้ลุ่มลึกตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรื่อยจนกว่าจะบรรลุอรหัตตผล หากการขยายข้อธรรมใดขัดแย้งต่อ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่เป็นปรมัตถธรรม ให้ยึด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นหลักเท่านั้น"

๒๕๕๐๐๖๒๓๒๔๐๓๑๐๓๔