พระพุทธรำพึง

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ในสัปดาห์ที่ ๘ ขณะประทับนั่ง ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงพุทธรำพึง ว่า “ธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วนี้ ลึก ซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต มิใช่วิสัยแห่ง ตรรก คือคิดเอาเองไม่ได้ หรือ ไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้



อนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลายส่วนมาก ยินดีในความอาลัย คือ กามคุณ สัตว์ผู้เห็นปานนั้น ยากนักที่จะเห็น ปฏิจจสมุปบาท และ พระนิพพาน ซึ่งมีสภาพ บอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ ตถาคตจะพึงแสดงธรรม หรือไม่หนอ ถ้าแสดงไปแล้ว คนอื่นรู้ตามไม่ได้ ตถาคตก็จะพึงลำบากเปล่า โอ! อย่าเลย อย่าประกาศธรรมที่ตถาคตได้บรรลุแล้วเลย ธรรมนี้ อันบุคคล ผู้เพียบแปล้ไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะ จะรู้ได้โดยง่ายมิได้เลย บุคคลที่ ยังยินดี พอใจให้กิเลสย้อมจิต ถูกความมืด คือกิเลสหุ้มห่อแล้ว จะไม่สามารถเห็นได้ ซึ่งธรรมที่ทวนกระแสจิต อันละเอียด ประณีต ลึก ซึ้ง เห็นได้ยากนี้”



วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หน้าที่พุทธบริษัท ๔

พระยาปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช ทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จพระปรินิพพาน ครั้งเสวยวิมุตติสุข ณ ต้นอชปาลนิโครธ ในสัปดาห์ที่ ๕ หลังตรัสรู้ว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพาน ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ดูก่อนมารผู้มีบาป บริษัททั้ง ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของตถาคต จักยังไม่ฉลาด ไม่ได้รับแนะนำ ยังไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน จักบอก จักแสดงธรรม มีปาติหาริย์ (คำสอนที่เห็นผลได้จริง) ข่มขี่ปรับปวาท (คำโต้แย้งของลัทธิอื่น) ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรม (ความเห็นตรงกัน) ไม่ได้ เพียงใด ดูก่อนมารผู้มีบาป ตถาคตจักยัง ไม่ปรินิพพานเพียงนั้น”
พระพุทธองค์ทรงประกาศให้ทราบว่า ในพระพุทธศาสนาต้องประกอบไปด้วยพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกขุบริษัท ภิกขุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดมิได้
หน้าที่พุทธบริษัท ๔ พึงกระทำคือ
๑. พุทธบริษัท ๔ ต้องเป็นผู้รู้ เข้าใจ และสามารถปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง ตามพระพุทธธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ (พระพุทธพจน์, พระไตรปิฎก)
๒. พุทธบริษัท ๔ ต้องสามารถ แนะนำ สั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย
๓. เมื่อมีผู้กล่าว ติเตียน จ้วงจาบ แสดงคำสอน ผิด พลาด พุทธบริษัท ๔ ต้องสามารถ ชี้แจง แก้ไข ให้ถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา